ปัญหาฟันผุนับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย เป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศและทุกอายุ และเป็นปัญหาที่เรื้อรังเริ่มตั้งแต่ในฟันน้ำนมและต่อเนื่องจนเป็นฟันแท้ในผู้ใหญ่ จากการสำรวจสุขภาพช่องปากแห่งชาติทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุขในเด็กเล็กอายุ 3 ปี ในปี พ.ศ. 2555 (การสำรวจสภาวะสุภาพช่องปากกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2555) พบว่าโดยภาพรวมมากกว่าร้อยละ 60 ของเด็กไทยมีฟันผุ การเกิดฟันผุและการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรก่อให้เกิดผลเสียตามมา ได้แก่ ผลต่อการบดเคี้ยวลดลง ทำให้การได้รับสารอาหารลดลงมีผลต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญา ทำให้ฟันซ้อนเก และฟันน้ำนมผุเป็นแหล่งของเชื้อฟันผุทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นใหม่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูงขึ้น การป้องกันฟันผุสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การให้ฟลูออไรด์ การควบคุมพฤติกรรมในการกินอาหารหวาน การเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลความสำเร็จในการใช้เครื่องมือเหล่านั้น มีข้อจำกัด เช่นการให้ฟลูออไรด์อาจไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ที่ฟลูออไรด์ในน้ำดื่มธรรมชาติที่สูงอยู่แล้ว งานวิจัยในต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ได้รายงานว่าโพรไบโอติกอาจมีประโยชน์ในการเสริมสุขภาพในช่องปาก ในการช่วยลดเชื้อก่อโรคในช่องปากจึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก รวมทั้งการมีผลในการลดเชื้อฟันผุ ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดฟันผุลดลง โพรไบโอติก (Probiotic) หมายถึง จุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ด้านสุขภาพ (คำนิยามของคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก) (FAO/WHO, 2002) จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นสายพันธุ์ที่ได้ผ่านการคัดเลือกมาแล้วอย่างดีว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดี เหมาะสม และปลอดภัยในการนำมาใช้เป็นโพรไบโอติกได้ จุลินทรีย์ที่ใช้เป็นโพรไบโอติกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ในกลุ่มของจีนัส Lactobacillus โดยทั่วไปเป็นการนำมาใช้ในการบริโภคเพื่อสุขภาพในช่องท้องหรือทางเดินอาหาร การคัดเลือกจุลินทรีย์เพื่อนำมาใช้สำหรับเป็นโพรไบโอติกในช่องปากมีอยู่จำกัด เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ที่มีทางการค้าในปัจจุบันจึงเป็นโพรไบโอติกสายพันธุ์เพื่อสุขภาพในทางเดินอาหารที่มีการใช้มานานและถูกนำมาประยุกต์เพื่อสุขภาพช่องปาก ซึ่งบางครั้งผลในการลดฟันผุไม่ชัดเจนขึ้นกับชนิดสายพันธุ์ที่ใช้ อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาได้มีผู้รายงานว่า โพรไบโอติกเหล่านั้นสามารถอยู่ในช่องปากได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น สันนิษฐานว่า เนื่องจากจุลินทรีย์เหล่านั้นไม่ได้มีแหล่งกำเนิดจากช่องปาก จึงไม่สามารถคงอยู่ได้นาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมกับจุลินทรีย์ ดังนั้นการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีต้นกำเนิดจากช่องปากของคน น่าจะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการเป็นโพรไบโอติกเพื่อเสริมสุภาพในช่องปากของคน จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่าการคัดเลือกจุลินทรีย์เพื่อเป็นโพรไบโอติกเป็นสิ่งที่จำเป็น และผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติกสำหรับสุขภาพในช่องปากยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ทีมวิจัยได้คัดเลือกจุลินทรีย์เพื่อเป็นโพรไบโอติกเสริมสุขภาพในช่องปาก ในระยะแรกเน้นในการช่วยให้ฟันแข็งแรง จุลินทรีย์ Lactobacillus paracasei SD1 ผ่านการคัดเลือกตามแนวทางของ FAO/WHO (Guidelines for the evaluation of probiotics in food. Food and Agricultural Organization of the United Nation and World Health Organization. Working group report 2002) โดยต้องคำนึงถึง 1) ความถูกต้องในการวินิจฉัยชนิดของจุลินทรีย์ 2) ความปลอดภัยในการนำไปใช้ 3) มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติกที่เตรียม และ 4) ประสิทธิผลของโพรไบโอติกในการป้องกันฟันผุ
เพื่อช่วยในการป้องกันฟันผุในประชากรไทย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทันตสุขภาพ ส่งผลให้ประชากรมีสุขภาวะที่ดี และช่วยให้ประเทศชาติประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาฟันผุและผลที่ตามมาของฟันผุ เช่น ค่าอุดฟัน ฟันปลอม เป็นต้น<br /> โครงการต้นแบบการใช้นมผงโพรไบโอติกในการป้องกันฟันผุในเด็กเล็ก ที่ศูนย์เด็กเล็กที่ อบต. ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา เป็นบทพิสูจน์ประสิทธิภาพในการใช้งานจริง และได้รับความสนใจในการนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาล จังหวัดสตูล โรงพยาบาลยะหริ่ง และ โรงพยาบาลอำเภอจะนะ