National Innovation Awards Winners

ผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

Back
National Innovation Award 2564

รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภท หน่วยงานภาครัฐ (Government Sector) ประจำปี 2564

โครงการนวัตกรรม
เอนอีซ:เอนไซม์อัจฉริยะเพื่อกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้เสนอผลงาน
ดร. ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช.
อีเมล
thidarat.nim@biotec.or.th
เว็บไซต์
https://www.biotec.or.th.
ความเป็นนวัตกรรม

อุตสาหกรรมสิ่งทอ คือ อุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมี และพลังงานสูง และก่อให้มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายซึ่งผ้าฝ้ายที่ผ่านกระบวนการทอจะมีการลงแป้งที่เส้นด้ายเพื่อป้องกันการขาดของเส้นด้ายขณะทอ นอกจากนั้น เส้นด้ายของฝ้ายยังมีสารพวกแว๊กซ์ หรือเพกตินเคลือบอยู่ ส่งผลให้ไม่สามารถย้อมสีติดและพิมพ์ลายได้ ดังนั้น โรงงานฟอกย้อมผ้าจึงต้องทำการลอกแป้ง และกำจัดเพกตินบนผ้าฝ้ายดิบออกด้วยการต้มผ้าที่อุณหภูมิสูงร่วมกับการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างอย่างรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น การลอกแป้งและกำจัดเพกตินนี้จะต้องทำแยกกัน เนื่องจากแต่ละขั้นตอนมีการใช้สารเคมี และสภาวะในการดำเนินการแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงทำการพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” หรือเอนไซม์ดูโอที่ผลิตจากเชื้อจุลินทรีย์เพียงชนิดเดียวที่สามารถใช้แทนสารเคมีในการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายออกได้อย่างง่ายดายในขั้นตอนเดียว ทำให้ช่วยลดขั้นตอนในการผลิตฝ้าฝ้าย ลดระยะเวลา พลังงาน แรงงาน และค่าใช้จ่ายโดยรวมในการผลิตลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของกระบวนการเดิม นอกจากนั้น เอนอีซสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตผ้าทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน และระดับอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรใดๆ ผ้าที่ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโรงงาน มีสัมผัสที่นุ่มขึ้น ติดสีย้อมได้ง่ายและสม่ำเสมอขึ้น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตผ้าฝ้ายต่อวันได้มากขึ้นอีกด้วย ขณะนี้เทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เอนอีซได้ถูกถ่ายทอดให้กับบริษัท Asia Star Trade Co., Ltd. (AST) ผ่านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด 6 เรื่อง เพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ ระหว่างการขยายขนาดตลาดไปสู่ 1) ตลาดสิ่งทอในกลุ่มประเทศบังคลาเทศ และปากีสถานโดยมีบริษัท K+Z cooperation รับเป็นตัวแทนจำหน่ายต่อไป และ 2) ตลาดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตลาดสิ่งทอ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตสำลีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบใช้ในระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานเพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรม จ. ขอนแก่น