National Innovation Awards Winners

ผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

Back
National Innovation Award 2018

รางวัลชมเชย ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2018

โครงการนวัตกรรม
Smart governance for public service on land use policy and regulation
ผู้เสนอผลงาน
Assistant Professor Dr. Sangdao Wongsai
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความเป็นนวัตกรรม

แนวคิดที่มาของผลงาน การจัดการบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ เป็นเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาและปรับปรุงแนวทางและวิธีการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการกำหนดโจทย์ปัญหาวิจัยร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริงจากหน่วยงานภาครัฐกับนักวิชาการ จึงจะนำไปสู่การวางแผนและดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการสาธารณะได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ผลงานระบบบริหารจัดการภาครัฐเพื่อการบริการสาธารณะด้านกฎหมายและนโยบายการใช้ทรัพยากรที่ดิน โดยสามารถเข้าถึงได้ที่เว็บไซต์ www.landusephuket.com หรือ www.phuket.go.th จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งในระดับชาติและนานาขาติ ทำให้มีอัตราการขยายตัวของตลาดการค้าและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ปัญหาที่ตามมาในระดับจังหวัด คือ ความสมดุลของการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้งระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในเรื่องการขอขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารบนพื้นที่สูงจากระดับความสูงไม่เกิน 80 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นระดับความสูงไม่เกิน 120 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยภาคเอกชนอ้างเหตุผลว่า พื้นที่โล่งไม่มีเพียงพอสำหรับการขยายตัวเมืองเพื่อการท่องเที่ยวและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ในขณะที่ภาคประชาชนและนักอนุรักษ์ โต้แย้งเรื่องการขอขยายพื้นที่ดังกล่าว ด้วยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดในพื้นที่ระดับความสูงนั้น ภาครัฐไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เนื่องจากข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ทันสมัย ข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินมีหลากหลายฉบับตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และยังคงอยู่ในรูปแบบกระดาษ ไม่มีฐานข้อมูลกลางที่มีมาตรฐานเดียวกัน และข้อมูลที่สร้างขึ้นในแต่ละหน่วยงานไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในระดับหน่วยงานท้องถิ่น คือ ความล่าช้าและความไม่ทันสมัยของการให้บริการสาธารณะด้านการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายภาครัฐเพื่อขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ในแต่ละวัน จะมีประชาชนและเอกชนผู้ถือครองที่ดินเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับนโยบายและข้อกำหนดการใช้ที่ดินภาครัฐที่บังคับใช้บนพื้นที่ดินของตนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรและธรรมชาติจังหวัดภูเก็ต สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐของแต่ละหน่วยงานต้องรับเรื่องและดำเนินการลงพื้นที่จริงเก็บตำแหน่งพิกัดเพื่อนำกลับมาตรวจสอบว่าประเภทและความสูงของสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ถือครองที่ดินยื่นขออนุญาตปลูกสร้างสอดคล้องกับนโยบายการใช้ที่ดินภาครัฐหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การพัฒนาระบบที่รวบรวมข้อมูลแผนที่และ zoning ที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายต่าง ๆ ที่กำกับดูแลโดยหลายหน่วยงานไว้ในที่เดียวกัน หรือ one-stop service จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถใช้ในการแก้ปัญหาการให้บริการสาธารณะร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทันสมัย สะดวกและรวดเร็วขึ้น นำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง ผลงาน www.landusephuket.com ระบบบูรณาการฐานข้อมูลด้านกฎหมายและนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดินภาครัฐข้ามหน่วยงาน เป็นแผนที่ภูมิสารสนเทศข้อมูลภาครัฐเชื่อมโยงกับตำแหน่งเชิงพื้นที่บนระบบคลาวด์เทคโนโลยี รองรับการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะจังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณะแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว เท่าเทียม และทั่วถึง เป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมีหลักฐานในเชิงประจักษ์ และลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณของประเทศ ระบบนี้เป็นที่ยอมรับระดับจังหวัด โดยสามารถเข้าถึงได้ที่ www.phuket.go.th และมีประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคมส่วนรวม ทั้งในเชิงนโยบายสาธารณะ เชิงสังคม เชิงวิชาการ และเชิงพาณิชย์ แนวคิดการต่อยอดผลงาน 1) การพัฒนาผลงานเพื่อการบริการสาธารณะต่อสังคม การพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการสร้างแผนที่เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐด้านต่าง ๆ ให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เช่น ระบบสาธารณูปโภค แผนที่ภาษี แผนที่การเกษตร ครัวเรือนและประชากร ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อการแก้ปัญหาและวางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้ตรงตามต้องการของชุมชนและสังคม เป็นแนวคิดภายใต้แผนงานวิจัย “Phuket Excellent Map” 2) การพัฒนาผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะ การจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานเพื่อผลักดันและขยายผลไปเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานพัฒนาระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ 3) การพัฒนาผลงานไปสู่งเชิงพาณิชย์ การพัฒนาต่อยอดเป็น Mobile Application และนำเสนอเป็น Package การให้บริการรายเดือนหรือรายปี สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐใช้เป็นเครื่องมือบริการประชาชน ลงสำรวจพื้นที่ภาคสนามที่จะขออนุญาตปลูกสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายบังคับใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนใช้ตัดสินใจในการค้าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการซื้อขายที่ดิน และภาคสังคมและประชาชนในพื้นที่ใช้เพื่อเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ต

ประโยชน์ด้านสังคม

ประโยชน์ของผลงานทางด้านสังคม<br /> 1) ทุกภาคส่วนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตร่วมกัน<br /> 2) ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานซึ่งกันและกันได้ ช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมีหลักฐานในเชิงประจักษ์ สร้างความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล<br /> 3) ภาครัฐสามารถบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น<br /> 4) ภาคสังคมและประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง ได้ทุกที่ทุกเวลา <br /> 5) ภาคเอกชนสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเป็นธรรม ลดปัญหาการทุจริตหลอกลวงขายที่ดิน<br /> 6) ภาควิชาการสามารถนำกระบวนการและหลักการในการพัฒนาระบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการสร้างแผนที่เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐด้านต่าง ๆ ให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อการแก้ปัญหาและวางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้ตรงตามต้องการของชุมชนและสังคม<br /> 7) เป็นโมเดลเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ต้นแบบโมเดลหนึ่งด้านระบบบริหารจัดการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart governance) เพื่อสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรข้อมูลและสารสนเทศร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด