Social & Environmental Contribution



คำจำกัดความ
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานนวัตกรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการใหม่ การบริการใหม่ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่มีคุณค่าเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม และเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ แบ่งเป็น 3 ประเภทตามลักษณะองค์กร ได้แก่

1. หน่วยงานภาคเอกชน 
ได้แก่ บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดกลาง บริษัทขนาดย่อม บริษัทขนาดย่อย และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)

2. หน่วยงานภาครัฐ 
หมายถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานธุรการศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ที่มา: พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ)

3. องค์กรเพื่อสังคมและชุมชน  
ได้แก่ วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน สมาคม สหกรณ์ มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล 

วิสาหกิจเพื่อสังคม หมายถึง
1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยมีรายชื่อตามประกาศของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)

2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของ Social Enterprise Thailand (SE Thailand)

วิสาหกิจชุมชน หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นๆที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคลเพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน (ที่มา: พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน)

สมาคม หมายถึง การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใดๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน (ที่มา: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

สหกรณ์ หมายถึง คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (ที่มา: พระราชบัญญัติสหกรณ์)

มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล หมายถึง องค์การที่มีทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง (ที่มา: กรมสรรพากร)

องค์การนอกภาครัฐ หมายถึง องค์การที่อยู่นอกภาครัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มุ่งแสวงหากำไร ทั้งนี้ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากบุคคลบางกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ในบางครั้งองค์การนอกภาครัฐยังทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่รัฐไม่อาจกระทำตามหน้าที่ได้เต็มที่ (ที่มา: ราชบัณฑิตยสถาน)

องค์กรไม่แสวงหากำไร หมายถึง องค์กรที่ไม่ใช่ภาคราชการ และไม่ใช่ภาคธุรกิจที่แสวงหากำไร ก่อตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในอันที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสและประชาชนผู้ทุกข์ยาก อันเกิดจากผลกระทบของการพัฒนา
ขอบเขตการส่งผลงานร่วมประกวด
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรางวัลที่พิจารณาจากผลการดำเนินการของผลงานที่มีความเป็นนวัตกรรม สามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยพิจารณาผลงานที่ขอรับรางวัลตามเงื่อนไข ดังนี้
• ต้องเป็นผลงานที่มีความใหม่ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการ การบริการ หรือรูปแบบธุรกิจ 
• ต้องเป็นผลงานที่มีการนำไปใช้จริงแล้ว 
• ต้องเป็นผลงานที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสร้างให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม  

หลักเกณฑ์การพิจารณา
1. ความเป็นนวัตกรรมของผลงาน
1.1 จุดเด่นที่แตกต่างชัดเจนของผลงาน
1.2 ที่มาและประเด็นปัญหาที่แก้ไข
1.3 ผลงานนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหา (Solution) ผลิตภัณฑ์/กระบวนการ/บริการ/รูปแบบธุรกิจที่มีความใหม่ หรือมีการออกแบบนโยบาย หรือประยุกต์ใช้เครื่องมือใหม่ในการนำมาป้องกัน/แก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ อย่างไร

2. เป้าหมายและผลกระทบของผลงาน
2.1 ผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหา
2.2 ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
2.3 บริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องจากผลงาน และแนวทางแก้ไขปัญหา

3. ความยั่งยืนของผลงาน 
3.1 ความสามารถในการขยายผลของผลงานและเครือข่ายความร่วมมือ
3.2 ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน

4. ธรรมาธิบาลขององค์กร
มีหลักการที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลว่า เป็นระบบที่ทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเป็นไปอย่างโปร่งใส น่าเชื่อถือและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จึงเป็นหลักการที่หลายองค์กรได้ให้ความสำคัญในการนำมาปฏิบัติ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและพันธกิจที่กำหนดไว้ (ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

คุณสมบัติผู้สมัคร
1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมาย และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
2. ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบครบถ้วนตามที่สำนักงานฯ กำหนด

รางวัล
1. รางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้รับพระบรมรูปพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย และใบประกาศเกียรติคุณ          
2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ และใบประกาศเกียรติคุณ 
3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ และใบประกาศเกียรติคุณ