Product & Service Design


คำจำกัดความ
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานที่ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งหมายถึง "การออกแบบเชิงนวัตกรรม” (Innovative Design) ที่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่ผสมผสานกัน 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ (Creative element)  2การออกแบบเชิงวิศวกรรมร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology element)  และ 3การขับเคลื่อนธุรกิจ (Business element) ผลงานจะต้องอยู่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือบริการใหม่ที่มี สไตล์ รูปแบบ โมเดลใหม่ๆ โดยเน้นการออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่าง รวมทั้งต้องมีการนำเทคโนโลยี วิชาการที่ช่วยเพิ่มประโยชน์ใช้สอย เทคโนโลยีการผลิต การเลือกใช้วัสดุ โดยผลงานต้องสร้างมูลค่าเพิ่มหรือแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะผลงาน ได้แก่


1. ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์  
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตของผู้ใช้หรือผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และเกิดสุนทรีภาพในการใช้งานคือ มีความสวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน ประสิทธิภาพในการใช้งานดีขึ้น หรือมีการออกแบบให้สอดคล้องกับสรีระร่างกายของผู้ใช้งาน ตัวอย่างผลงานเช่น เฟอร์นิเจอร์ สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์เครื่องมือ อาหาร เสื้อผ้าสิ่งทอ เป็นต้น

ยกตัวอย่าง ผลงาน SmartTerra เป็น Terrarium ชิ้นแรกของโลกที่มีองค์ประกอบครบเหมือนธรรมชาติจริง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมและจำลองธรรมชาติและสภาพอากาศให้กับต้นไม้ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีภายในบ้าน


2. ประเภทการออกแบบบริการ  
เป็นการสร้างสรรค์หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการให้บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความพึงพอใจต่อการใช้บริการเพิ่มขึ้น หรือทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการ หรือทำให้เกิดการใช้ซ้ำและการใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวดเพื่อสุขภาพ กลุ่มบริการให้ผู้สูงอายุ
ยกตัวอย่าง ผลงานระบบโทรเวชกรรมวชิรพยาบาลโดยแอพพลิเคชั่นแอทโฮม ซึ่งเป็นระบบแพทย์และติดตามสุขภาพทางไกลที่เชื่อมโยงระกว่างผู้ป่วยและแพทย์ ระบบจองคิวเพื่อรับบริการในร้านอาหารในโรงพยาบาล หรือระบบการจองแม่บ้านทำความสะอาดออนไลน์


ขอบเขตการส่งผลงานร่วมประกวด
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นรางวัลที่พิจารณาจากผลการดำเนินการของผลงานที่มีความเป็นนวัตกรรม โดยนำการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาสร้างให้เกิดคุณค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยพิจารณาผลงานที่ขอรับรางวัลตามเงื่อนไข ดังนี้
• ต้องเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบใหม่อย่างไร มีรูปแบบที่มีความแตกต่างจากเดิมอย่างไร ทั้งประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์และการออกแบบบริการ 
• ต้องเป็นผลงานที่มีการนำไปใช้จริงแล้ว 
• ต้องเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นประโยชน์ที่ได้จากการออกแบบใหม่

หลักเกณฑ์การพิจารณา
1. การออกแบบเชิงนวัตกรรม
1.1 เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่แสดงให้เห็ฯถึงการออกแบบใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างเป็นรูปธรรม
  1.2 มีการออกแบบที่มีประโยชน์ ตอบโจทย์ปัญหาการใช้งาน หรือการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  1.3 แสดงให้เห็นถึงสุนทรียภาพในการใช้งาน

2. การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2.1 ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนผลิตภัณฑ์หรือบริการ
2.2 มีโอกาสและความสามารถในการขยายตบาด

3. คำนึงถึงผลกระทบเชิงพาณิชย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม 


คุณสมบัติผู้สมัคร
1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมายเอกชน และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
2. เป็นหน่วยงานของรัฐทุกประเภท เช่น องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอิสระ
3. เป็นองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน สมาคม สหกรณ์ มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล
4. เป็นบุคคลธรรมดา หรือกลุ่มบุคคล ที่มีสัญชาติไทย 
5. ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบครบถ้วนตามที่สำนักงานฯ กำหนด

รางวัล
1. รางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้รับพระบรมรูปพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย และใบประกาศเกียรติคุณ          
2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ และใบประกาศเกียรติคุณ 
3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ และใบประกาศเกียรติคุณ