National Innovation Awards Winners

ผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

Back
National Innovation Award 2560

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ ประจำปี 2560

โครงการนวัตกรรม
ถังคอมโพสิตบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด
ผู้เสนอผลงาน
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ
บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน)
ความเป็นนวัตกรรม

พลังงานทางเลือกถือเป็นพลังงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยสามารถขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติได้ในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย ก๊าซธรรมชาติถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในลักษณะต่างๆ ซึ่งก๊าซธรรมชาติมีราคาที่ถูกกว่าน้ำมัน และขณะนี้ตามนโยบายของประเทศที่ส่งเสริมให้ใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น อาทิ เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงด้านยานยนต์และการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งโดยแรกเริ่มถังบรรจุก๊าซธรรมชาติผลิตขึ้นมาจากเหล็กกล้าซึ่งมีน้ำหนักมาก สามารถบรรจุก๊าซธรรมชาติได้น้อย หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงและพัฒนาถังบรรจุก๊าซธรรมชาติให้มีน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรทุกสัมภาระและการบรรจุก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มมากขึ้นและในปัจจุบันถังบรรจุก๊าซธรรมชาติที่จัดจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่ทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ ชนิดที่ 1 (Type I ) : ทำมาจากเหล็กทั้งถัง เป็นถังชนิดแรกที่ผลิตออกมาใช้งาน และยังคงมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีต้นทุนทางด้านราคาที่ถูก โดยมีอัตราส่วนปริมาตรต่อน้ำหนักถังประมาณ 1 ลิตรต่อ 1 กิโลกรัม ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ ชนิดที่ 2 (Type II) : ทำจากเหล็กแต่มีความหนาน้อยกว่าถัง Type I และมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ด้วยการหุ้มด้วยวัสดุคอมโพสิตซึ่งเป็นโพลิเมอร์เสริมแรงใยแก้ว (Fiber Glass) โดยมีอัตราส่วนปริมาตรต่อน้ำหนักถังประมาณ 1 ลิตร ต่อ 0.8 กิโลกรัม IV ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ ชนิดที่ 3 (Type III) : ตัวถังชั้นในผลิตจากอะลูมิเนียม และชั้นนอกถูกหุ้มด้วยวัสดุวัสดุคอมโพสิตเป็นเส้นใยคาร์บอน (Carbon Fiber) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้สามารถทนรับแรงดันได้โดยมีอัตราส่วนปริมาตรต่อน้ำหนักถังประมาณ 1 ลิตร ต่อ 0.5-0.6 กิโลกรัม ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติ ชนิดที่ 4 (Type IV) : ตัวถังชั้นในผลิตจากพลาสติกและชั้นนอกหุ้มด้วยวัสดุคอมโพสิต ซึ่งเป็นเส้นใยแก้วหรือเส้นใยคาร์บอน (Fiber Glass & Carbon Glass) เป็นวัสดุเสริมแรง ซึ่งทนต่อแรงดึง และในปัจจุบันถังชนิดนี้มีน้ำหนักเบาที่สุดโดยมีอัตราส่วนปริมาตรต่อน้ำหนักถังประมาณ 1 ลิตร ต่อ 0.3 – 0.4 กิโลกรัม จากคุณสมบัติเฉพาะของถังบรรจุก๊าซธรรมชาติที่กล่าวมานั้น บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เห็นถึงความสำคัญของถังบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 (Type IV) จึงมีแนวคิดผลิตต้นแบบ “ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดโดยใช้วัสดุคอมโพสิตคาร์บอนไฟเบอร์ (Type IV)” ขึ้นเป็นรายแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานก๊าซธรรมชาติ ทั้งภาคการบริการและระบบการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและภาคยานยนต์ให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจาก มีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ โดยวัสดุที่ใช้ทำถังไส้ในทำมาจาก High Density Polyethylene (HDPE) ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีที่ดีกว่าพลาสติกทั่วไป จึงสามารถลดอัตราการซึมผ่านของก๊าซได้ดีกว่าพลาสติกทั่วไปทำให้สามารถบรรจุก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มมากขึ้น และทนต่อการเกิดการกัดกร่อนและการเกิดสนิม และต้านทานความล้าของวัสดุ (Tensile Fatigue) ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถทนต่อความดันก๊าซภายในถัง 200-250 บาร์ ได้อีกด้วย

ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

ในต่างประเทศนั้นได้มีการใช้ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 อย่างแพร่หลายและคลอบคุลมถึงภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นยังไม่มีผู้ผลิตรายใดผลิตถังบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 ออกมาจัดจำหน่ายได้สำเร็จ ทั้งนี้ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้ผลิตถังคอมโพสิตบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 นี้ เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจพลังงานก๊าซธรรมชาติให้ดีขึ้น ทั้งในด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ ด้านอุตสาหกรรม ด้านยานยนต์ และด้านการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ดังต่อไปนี้<br /> <br /> 1. เป็นผู้ผลิตถังบรรจุก๊าซชนิดที่ 4 แบบครบวงจร ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบตั้งต้น กระบวนการผลิต ตลอดจนการทดสอบเพื่อให้ได้มาถึงผลิตภัณฑ์และมาตรฐานเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้<br /> <br /> 2. ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 สำหรับภาคยานยนต์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เลือกใช้ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติที่มีน้ำหนักเบาและทนทานต่อการกัดกร่อน เพื่อลดภาระบรรทุกและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค<br /> <br /> 3. ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 สำหรับภาคการขนส่งเป็นทางเลือกที่สำคัญและคุ้มค่าที่สุด เหตุเพราะสามารถลดภาระบรรทุกและเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ และ/หรือ ก๊าซธรรมชาติอัด ให้ได้ปริมาณและผลกำไรมากขึ้นต่อ 1 เที่ยวของการขนส่ง<br /> <br /> 4. ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติชนิดที่ 4 สำหรับภาคอุตสาหกรรม สามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติให้กับทางโรงงานอุตสาหกรรมและสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซธรรมชาติ ได้ในปริมาณที่เพิ่มและคุ้มค่ามากขึ้น