National Innovation Awards Winners

ผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

Back
National Innovation Award 2017

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2017

โครงการนวัตกรรม
Siriraj Ring Cap
ผู้เสนอผลงาน
Dankulchai
สาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ความเป็นนวัตกรรม

ในปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 ผู้ป่วยเกือบ 70,000 คน ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นสาเหตุการตายอันดับสองผู้ป่วยมะเร็งผู้หญิง การรักษาหลักในมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1-3 แบบหวังหายขาดนั้น เป็นการรักษาด้วยการฉายรังสีจากภายนอก (External beam radiotherapy) การสอดใส่แร่ด้วยสารกัมมันตภาพรังสี (Brachytherapy) และให้เคมีบำบัดร่วมด้วย โดยผลการรักษา ของวิธีดังกล่าวค่อนข้างดี อัตราการรอดชีวิตใน 5 ปี ประมาณ 60-90% แล้วแต่ระยะของโรค เทคนิคการสอดใส่แร่นั้นมีด้วยกัน 3 วิธี คือ การสอดใส่แร่ในช่อง (Intracavitary) การปักเข็ม (Interstitial implantation) และการวางบนก้อนมะเร็ง (Mould) การจะเลือกใช้เทคนิคใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรูปร่างของก้อนมะเร็งที่ต้องการรักษา โดยทั่วไป เทคนิคการสอดใส่แร่ในมะเร็งปากมดลูกนั้น มักจะใช้การสอดใส่แร่ในช่องเป็นหลัก โดยที่แพทย์รังสีรักษาเป็นผู้สอดใส่อุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอดและมดลูก แล้วจึงปล่อยสารกัมมันตภาพรังสี ผ่านทางอุปกรณ์เพื่อไปให้รังสีในตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ทั้งนี้สาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้นำเทคนิคการสอดใส่แร่สามมิติมาทดแทนวิธีสองมิติ ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2555 จากสถิติของสาขาพบว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่มารับการบริการสอดใส่แร่ในแต่ละปีประมาณ 200 ราย โดยประมาณ 100 รายต่อปีที่จะได้รับการรักษาด้วยการสอดใส่แร่ด้วยเทคนิคสามมิติ และประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยการสอดใส่แร่ด้วยเทคนิคสามมิติในแต่ละปี มีระยะโรคเป็นระยะที่สามซึ่งมีปัญหาว่า เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ที่เทคนิคการสอดใส่แร่เฉพาะการสอดใส่แร่ในช่อง (Intracavitary) เท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณรังสีที่ต้องการไปยังก้อนมะเร็งอาจจะไม่เพียงพอ หรือบางรายได้เพียงพอ แต่ทำให้ปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงสูงขึ้น ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ (ฺBladder) ลำไส้ตรง (Rectum) ลำไส้ใหญ่ (Sigmoid colon) ลำไส้เล็ก (Small bowel) หรือ ช่องคลอด (Vagina) เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลำไส้อักเสบ ช่องคลอดตีบตัน เป็นต้น ดังนั้นในช่วงเริ่มแรกที่เริ่มใช้การรักษาชนิดนี้ จึงนำอุปกรณ์ที่ซื้อจากบริษัทที่สามารถใช้ได้ทั้งเทคนิคการสอดใส่ในช่อง (Intracavitary) และการปักเข็ม (Implantation) ซึ่งมีราคา 96,000 บาท แต่พบปัญหาว่า ขนาดของอุปกรณ์มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 4 เซนติเมตร (ไม่มีรูปักเข็ม) และ 4.5 เซนติเมตร (มีรูปักเข็ม) ทำให้ไม่สามารถใส่เข้าไปในช่องคลอดของผู้ป่วยไทยได้ อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นสีดำ ทำให้เมื่อใส่เข้าใน ช่องคลอดแล้ว แพทย์ไม่สามารถมองเห็นช่องที่จะสอดใส่เข็ม เพื่อปักเข้าไปในปากมดลูกได้ชัดเจน ในรพ.อื่นๆทั้งประเทศที่ซื้อเครื่องมือจากบริษัทดังกล่าว ก็พบปัญหาเช่นเดียวกัน จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ในปี 2557 ศิริราชจึงพัฒนาอุปกรณ์เสริม เพื่อให้สามารถใช้เทคนิคการสอดใส่แร่ในช่อง (Intracavitary) ร่วมกับการปักเข็ม (Interstitial implantation) ชื่อว่า “อุปกรณ์สำหรับครอบชุดการสอดใส่แร่มะเร็งปากมดลูก (Siriraj Ring Cap)” ซึ่งเป็นชุดเสริมต่อเข้ากับอุปกรณ์หลัก ข้อดีของการใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นคือ มีขนาดเล็กลง จากของบริษัทที่เส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 4 และ 4.5 เซนติเมตร เหลือ 3.5 เซนติเมตร ทำให้สามารถสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของผู้ป่วยไทยได้ และสามารถใช้เทคนิคการสอดใส่แร่ ร่วมกับการปักเข็ม เนื่องจากตัววัสดุเป็นสีขาว เมื่ออยู่ในช่องคลอดแล้ว แพทย์สามารถมองเห็นช่อง เพื่อปักเข็มเข้าไปได้ ทำให้ปริมาณรังสีครอบคลุมบริเวณก้อนมะเร็งได้ดี และอวัยวะข้างเคียงได้รับรังสี ในปริมาณที่น้อย ผลที่คาดหวังตามมาคือ จะควบคุมโรคได้ดีขึ้น และลดผลข้างเคียงให้น้อยลง โดยราคาที่ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ประมาณ 5,000 บาท

ประโยชน์ด้านสังคม

1. จากการวิเคราะห์ข้อมูลของปริมาณรังสีในผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในปี 2557 จากผู้ป่วยทั้งหมด 29 ราย มีการสอดใส่แร่ทั้งหมด 117 ครั้ง พบว่ามี 95 ครั้ง (81.2%) ที่ใช้อุปกรณ์สำหรับครอบชุดการสอดใส่แร่ มะเร็งปากมดลูก ขณะที่อีกกลุ่มที่ไม่ได้อุปกรณ์ดังกล่าว 22 ครั้ง (18.8%) ซึ่งพบว่า ปริมาณรังสีที่สามารถครอบคลุมก้อนมะเร็งได้ ในกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์สามารถครอบคลุมก้อนมะเร็งได้ดีกว่า กลุ่มที่ไม่ใช้อุปกรณ์ สามารถทำให้ ปริมาณรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็งได้เกือบ 90% มีผลต่อการควบคุมโรคของผู้ป่วย <br /> 2. อัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น และผลข้างเคียงในระดับต่ำ จากข้อมูลพบว่า อัตราการรอดชีวิตใน 2 ปี ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ สูงถึง 89.7% และไม่มีผู้ป่วยรายใดที่มีผลข้างเคียงในระดับรุนแรงเลย