ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีมากกว่า 70 ภาษาที่ใช้พูดคุยสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่แนวชายแดนของประเทศ ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ใช้ภาษาแม่ (ภาษาท้องถิ่น) ของตนเอง อาทิเช่น กะเหรี่ยง, ม้ง, ลาหู่, มอญ, ไทยใหญ่, คะฉิ่น, ละเวือะ, เมี่ยน เป็นต้น ความหลายหลายเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์และความมั่งคั่งทางทรัพยากรของประเทศ ท่ามกลางความหลากหลายเหล่านี้ มีเพียงภาษาไทย ภาษาเดียวที่ถูกใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้แก่เด็กทุกคนในประเทศ เมื่อเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันเข้าเรียนในระบบโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน ภาษาจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสื่อสารระหว่างครูกับเด็ก เพราะครูและนักเรียนพูดคนละภาษา โดยเฉพาะในวัยเริ่มต้นของการเรียนในโรงเรียน จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทัศนคติของเด็กต่อการเรียนและตนเอง ทำให้เด็กจำนวนมากไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ความสามารถในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นมีน้อย มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและเลิกเรียนกลางคันในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในด้านอื่นๆต่อไป มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กชายขอบภายใต้ชื่อ “การจัดการสอนแนวทางทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน”สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในพื้นที่และชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เจ้าของภาษา ซึ่งโครงการฯนี้ได้ดำเนินงานในพื้นที่โรงเรียนนำร่องทั้งสิ้น 7 โรงเรียน ใน 3 กลุ่มภาษาชาติพันธุ์ ดังนี้ 1. โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี – ภาษามอญ 2. โรงเรียนบ้านพุย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ – ภาษากะเหรี่ยงโปว์ 3. โรงเรียนบ้านแม่ลาย อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ – ภาษากะเหรี่ยงโปว์ 4. โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน อ.เทิง จ.เชียงราย – ภาษาม้งขาว 5. โรงเรียนบ้านแผ่นดินทอง อ.เทิง จ.เชียงราย – ภาษาม้งขาว 6. โรงเรียนบ้านห้วยหาน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย – ภาษาม้งขาว 7. โรงเรียนบ้านห้วยคุ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย – ภาษาม้งขาว ผลจากการดำเนินโครงการคือ เด็กสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้คล่อง ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ยกระดับผลการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียน ไม่ขาดเรียน รักการอ่าน พูดจาโต้ตอบอย่างมั่นใจและภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวัตนธรรมของตนเอง และในช่วงต้นปี 2557 ได้ขยายโครงการฯไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อมดำเนินการโครงการนี้อีก 11 โรงเรียน ซึ่งมีภาษาเพิ่มอีก 3 กลุ่มภาษาชาติพันธุ์ คือ ภาษาลาหู่แดง, ภาษากะเหรี่ยงสกอร์ และภาษาลเวือะ.
1. การจัดการศึกษาแนวทางนี้ช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน (ใช้ภาษาท้องถิ่นในชุมชน) ให้สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้ด้วยความเข้าใจ ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ดีและสามารถเรียนรู้วิชาอื่นๆได้เป็นอย่างดีด้วย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ให้ได้รับสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์<br /> 2. มีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของคนในชาติ สู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป <br /> 3. ส่งเสริมการเคารพในความหลากหลายในสังคม เคารพอัตลักษณ์ของตนเองและเคารพความแตกต่างของผู้อื่น และ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในชาติ