ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ ในขณะที่บุตรหลานในวัยแรงงานมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนวัยแรงงานต่อการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ 1 คน ลดลง ด้วยเหตุนี้ผู้สูงอายุจึงขาดคนดูแล ต้องอยู่ตามลำพัง และต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น แม้ร่างกายของผู้สูงอายุจะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่จุดประสงค์และความต้องการในการเดินทางยังคงมีมากด้วยความจำเป็นในด้านต่างๆ อาทิ พบแพทย์ พบปะเพื่อนๆ ทำกิจกรรมสันทนาการ ซื้อของ แต่มาตรฐานในการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะไม่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุ เช่น ความเร็วในการขับขี่ การขึ้น-ลงรถ การช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน และระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกเส้นทาง
นี่เองที่นวัตกรรมการบริการการเดินทางของผู้สูงอายุ Go Mamma ได้เกิดขึ้น โดยได้นำพาหนะแท็กซี่ที่มีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมเดินทางสาธารณะ มาออกแบบต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมการบริการรับ-ส่ง เพื่อให้เหมาะกับข้อจำกัดของผู้สูงอายุ และตอบโจทย์ความกังวลของลูกหลาน ซึ่ง “เพิ่ม” ความไว้ใจได้ ด้วยคุณภาพระบบการจัดการ และ “ลด” ค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่มีความปลอดภัยเช่นกัน เช่น การคัดเลือกผู้ขับขี่ อบรมการบริการ ระบบติดตามการเดินทาง การจองและจ่ายเงินที่สะดวก มีบริการผู้ดูแลติดตาม โดยมุ่งเป้าที่ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เดินได้ด้วยตนเองหรือมีอุปกรณ์ช่วยพยุงต้องการเดินทางแต่ขาดคนพาไป ที่คาดว่ามีประมาณ 800,000 คน
ทั้งนี้เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ทำให้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐานในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพตนเอง สามารถดูแลตนเองได้ ในขณะเดียวกันลูกหลานก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติและมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นการสร้างสังคมที่เชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างกลุ่มคนที่มีอายุคนละช่วงวัยผ่านนวัตกรรมการเดินทาง ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าทอดทิ้งซึงกันและกัน